สินค้าจากจีน โดยปกติทั่วไปแล้ว สินค้าประเภทใดก็ตาม ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด การแข่งขันด้านการผลิตสินค้าชนิดนั้น ก็มักจะสูงตามไปด้วย
เฉกเช่นเดียวกับช่วงการแพร่ระบาดของ Coronavirus ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจีนหลายรายต่างโดดเข้ามาลงทุนผลิตหน้ากากทางการแพทย์กันเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูในประเทศจีน
กอปรกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แย่งกันหาแหล่งผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เพื่อใช้ป้องกันไวรัสระบาด ทำให้การผลิตสินค้า PPE เป็นไปด้วยความเร่งรีบ และลุกลามเป็นปัญหาด้านคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในการส่งออก
แม้ว่าปัจจุบันจีนจะเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับใช้ในทางการแพทย์และใช้ส่วนบุคคล โดยมีจำนวนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายประมาณ 20,000 ราย แต่สินค้า PPE ล่าสุดที่ผลิตนั้น กลับไม่ได้ถูกรับรองให้ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ นอกเหนือจากหน้ากาก N95 แล้ว จีนยังได้ผลิตหน้ากาก KN95 ซึ่งเป็นมาตรฐานของจีน และมีความใกล้เคียงกับหน้ากาก N95 โดยได้ออกแบบมาเพื่อกรองอนุภาคในอากาศได้ถึง 95% ในขณะที่หน้ากาก N95 ขึ้นชื่อว่าออกแบบมาเพื่อใช้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพโดยตรง สามารถป้องกัน Sars-CoV-2 และป้องกัน Coronavirus
อย่างไรก็ตาม สำหรับ KN95 ซึ่งเป็นหน้ากากมาตรฐานของจีนนั้น ยังไม่ถูกจัดว่าเป็นเกรดที่ใช้ในทางการแพทย์ได้ และไม่จำเป็นต้องมีการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ อีกทั้งยังไม่ได้มีการรับรองว่าจะใช้ป้องกันเชื้อโรคได้ตามคำแนะนำของสมาคมเครื่องมือแพทย์จีน เนื่องจากตามข้อบังคับของการผลิตหน้ากากทางการแพทย์ จะต้องผลิตภายในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากฝุ่นและแบคทีเรีย หรือภายในห้องสะอาดที่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า
ปัจจุบัน มีบริษัทประมาณ 1,500 แห่งในประเทศจีน ที่มีคุณสมบัติในการผลิตหน้ากากเกรดทางการแพทย์ที่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดโดยองค์การการแพทย์แห่งชาติ โดยมี 3 ปัจจัยที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิต ได้แก่ ชนิดของผ้า, เครื่องทำหน้ากาก และเครื่องฆ่าเชื้อ รวมไปถึงห้องสะอาด ที่มีขนาดของอนุภาคจำกัดภายใต้ระดับที่กำหนด
เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรของจีน กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ 11 ชนิด รวมถึงชุดหน้ากาก ชุดทดสอบ และเสื้อคลุม จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าก่อนการส่งออก ทั้งนี้ปักกิ่งยังได้กำหนดให้ผู้ผลิตหน้ากากสำหรับการผ่าตัด ชุดทดสอบ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อการส่งออก จะต้องได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนภายในประเทศจีน
มาตรการเหล่านี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมการทุจริตของผู้ส่งออกจีน ที่มักมีการปลอมใบรับรอง CE หรือ CE Marking (Conformite Europeene) ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าสินค้านั้นมีการออกแบบและการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรรม EU เพื่อให้ผู้บริโภค EU มีความมั่นใจถึงความปลอดภัยในการใช้สินค้า
อย่างไรก็ดี Protaobao พบว่าจากรายงานข้อมูลระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนได้ตรวจสอบตัวแทนในการออกใบรับรอง 87 ราย พบว่ามีการละเมิดกฎระเบียบถึงร้อยละ 15 และอีก 5 ราย ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในการดำเนินงาน เหตุผลหลักสำหรับการออกใบรับรอง CE ปลอมนั้น ก็เนื่องมาจากการจะได้ใบรับรอง CE สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 70,000 ยูโร (ประมาณ 76,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 5-8 เดือน ตามการรับรองของบริษัทข้ามชาติ SGS (เป็นองค์กรชั้นนำของโลกด้านการตรวจสอบ การทดสอบ และการรับรองระบบ) ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก โดยมาตรฐานของเครื่องหมาย CE ที่เข้มงวดนี้ จึงเป็นกฎเหล็กที่บังคับให้สินค้าจากจีนต้องได้คุณภาพตาข้อบังคับสากล เพื่อให้ผู้บริโภคที่นำเข้าสินค้าจากจีน ได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัยและไม่มีความเสี่ยงนั่นเอง